ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

ต้นเทียนแกะสลัก ปี 2561

ต้นเทียนชนะเลิศการประกวดต้นเทียนพรรษาขนาดใหญ่ ประเภทแกะสลัก

ประจำปี 2561

วัดทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี 

 

ต้นเทียนประเภทแกะสลักขนาดใหญ่วัดทุ่งศรีเมือง มีความยาว 18 เมตร 99 เซนติเมตร ความกว้าง 3 เมตร สูง 5 เมตร 50 เซนติเมตร มีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
 ด้านหน้าเป็นสกุณคชสีห์ซึ่งมีตัวเป็นราชสีห์ หัวมีงวงและงาเป็นช้าง มีปีก ลำตัวมีลายวนทักษิณาวรรต มีพลังเทียบเท้าช้างและสิงห์รวมกัน ด้านข้างเป็นกินรีพนมมือนอบน้อมแด่องค์พระเวสสันดรในการให้ทาน
 ถัดมาช่วงฐานรองรับต้นเทียนแกะสลักเป็นทศชาติชาดกชาติที่ 10 ชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพระเวสสันดรชาดกใน กัณฑ์ที่ 3 ทานกัณฑ์ กล่าวถึงพระเจ้ากรุงสัญชัยจำต้องเนรเทศ พระราชโอรสด้วยเสียพระทัยนัก พระเวสสันดรทูลลาพระมารดาพระบิดาและขอบริจาคทานให้ พิธีสัตตสดกมหาทานคือ ช้าง ม้า โคนม รถม้า ทาสและทาสี อย่างละ 700 บริจาคให้คนทั่วไป สัตตสดกมหาทานนั้น คือช้าง 700 เชือก ม้า 700 ตัว โคนม 700 ตัว รถม้า 700 คัน นารี 700 นาง ทาส 700 คน ทาสี 700 คน ผ้าอาภรณ์ 700 ชิ้น เสด็จออกจากนคร พระนางมัทรีพาพระโอรสและพระธิดาตามเสด็จออกป่าด้วย มิทรงยอมอยู่ในวังแม้พระเวสสันดรจะยับยั้งห้ามปรามมีให้มาตกระกำลำบากด้วยกันในป่า ระหว่างทางที่เสด็จขึ้นราชรถทองไปนั้นมีพราหมณ์ 4 คน วิ่งมาทูลขอม้าบ้างขอราชรถบ้างพระเวสสันดรก็ทรงเปลื้องปลดพระราชทานให้หมด เปรียบดั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ และเป็นสมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย ที่เปี่ยมล้นไปด้วยคุณธรรมทุกประการ และปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฏร์ให้ร่มเย็นเป็นสุขจนมาถึงปัจจุบัน
 ส่วนลำต้นแกะสลักเป็นรูปพระเวสสันดรและพระนางมัทรีได้จูงและอุ้มกัณหาชาลี มีพราหมณ์ซึ่งมาขอราชรถ พระเวสสันดรก็ยกให้ทั้งสิ้นในที่สุดจึงต้องอุ้มพระโอรสและพระธิดาเสด็จเข้าป่าไป ลายลำต้นประกอบไปด้วยสัตว์ป่าหิมพานต์ กระหนกสามตัว กระหนกเปลว กระหนกก้านขด เครือเถาและดอกไม้พันธุ์พฤกษา
 ถัดมาชุดหลังเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณสามเศียรเสด็จลงมาแสดงความชื่นชมยินดีกับพระเวสสันดร ที่โปรดการบริจาคทานและรักษาพรหมจรรย์ เหล่าเทวดาและสัตว์ป่าหิมพานต์ต่างไปเฝ้าพระอินทร์ใคร่ที่จะได้พบ พระอินทร์จึงได้เยี่ยมด้วยพระองค์เอง เพื่อนำไปตรัสสอนแด่ทวยเทพเทวดาผู้มีความหลงผิดให้กลับตนเสียใหม่ ผู้ทำบาปก็คือนรก และผู้ทำดีก็คือสวรรค์ ส่วนด้านหลังสุดเป็นเทพกินรีถือดอกบัวเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในวันเข้าพรรษา
           
     ช่างผู้จัดทำ
1. นายวิเชียร ภาดี ผู้ควบคุมการออกแบบและหัวหน้าช่างเทียน

 

2. นายวิศรุต ภาดี หัวหน้าช่างเทียน และทีมปฏิบัติงานกว่า 30 คน ร่วมกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาลัยเพาะช่าง